
Beijing Information Science and Technology University

Beijing Information Science and Technology University มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศปักกิ่ง 北京信息科技大学 (BISTU)
เป็นมหาวิทยาลัยเชิงปฏิบัติการระดับสูงที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งโดยรัฐบาลเทศบาลนครปักกิ่ง Beijing 北京市 ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2008 จากการควบรวมของมหาวิทยาลัย Beijing Mechanical Industry Institute เดิม และ Beijing Information Engineering Institute เดิม มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีจุดเด่นหลักคือ “เทคโนโลยีสารสนเทศ” (Information Technology) ผสานกับหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การจัดการ มนุษยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เป็นต้น อีกทั้งให้ความสำคัญกับการบูรณาการระหว่างภาคการศึกษาและอุตสาหกรรม ตลอดจนการผลิตบุคลากรแบบร่วมมือ (Collaborative Education) โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคของกรุงปักกิ่งและของประเทศจีน

มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใน เมืองหลวงของประเทศจีน อาศัยข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์และทรัพยากรทางการศึกษาที่เพียบพร้อม ยึดหลัก “การให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มุ่งผลักดันรูปแบบการผลิตบุคลากรที่มีความเป็นสากล หลากหลาย และเต็มไปด้วยนวัตกรรม ถือเป็นฐานสำคัญในการผลิตบุคลากรสำหรับสาขาที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลในประเทศ
Jinbu Study in China
ชั้น 3 จามจุรีสแควร์ ถ.พระราม 4 กทม.
MRT สามย่าน ทางออก 2
(จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
วิทยาเขตและพื้นที่
ปัจจุบัน Beijing Information Science and Technology University มีหลายวิทยาเขต รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 312.5 ไร่ บรรยากาศในมหาวิทยาลัยร่มรื่น สภาพแวดล้อมเหมาะแก่การเรียนรู้ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเรียนการสอนและการวิจัยอย่างครบครัน

วิทยาเขตหลัก (Main Campus)
ตั้งอยู่ในปักกิ่ง เขตไห่เตี้ยน Haidian海淀区 ติดกับย่านจงกวนชุน (Zhongguancun) ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของปักกิ่ง เป็นพื้นที่หลักด้านการเรียนการสอนและการวิจัยของมหาวิทยาลัย บรรยากาศร่มรื่น มีถนนกว้างขวางสะอาด มีอาคารเรียนสมัยใหม่หลายแห่ง ห้องปฏิบัติการทางสารสนเทศ ศูนย์กิจกรรมนักศึกษา และโรงยิมขนาดใหญ่ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนและการใช้ชีวิตอย่างดี

วิทยาเขตเหลียงเซียง (Liangxiang Campus)
ตั้งอยู่ใน ปักกิ่ง เขตฝางซาน (Fangshan) (房山区) รองรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 และใช้พัฒนาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมศาสตร์รุ่นใหม่ วิทยาเขตนี้ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา เงียบสงบเหมาะแก่การศึกษา รายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ อาคารเรียนและหอพักมีความทันสมัยโอ่อ่า มีศูนย์ปฏิบัติการเชิงนวัตกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านวัฒนธรรมและกีฬาหลายแห่ง ถือเป็นฐานสำคัญในการปูพื้นฐานการเรียนระดับอุดมศึกษาและช่วยให้นักศึกษาใหม่ปรับตัวสู่ชีวิตในมหาวิทยาลัย

วิทยาเขตใหม่
ตั้งอยู่บริเวณชานเมืองปักกิ่ง โดยมีการวางผังวิทยาเขตที่ทันสมัย ใช้แนวคิด “วิทยาเขตอัจฉริยะ” ประกอบด้วยห้องเรียนอัจฉริยะระดับสูง แพลตฟอร์มวิจัยชั้นนำ และพื้นที่ภูมิทัศน์เชิงนิเวศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและความร่วมมือระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัย


คณาจารย์และนักศึกษา
Beijing Information Science and Technology University มีคณะอาจารย์ที่มีโครงสร้างสมดุลและเปี่ยมด้วยประสบการณ์ในการสอนและวิจัย ครอบคลุมกลุ่มอาจราย์ทั้งรุ่นอาวุโส กลาง และรุ่นใหม่อย่างกลมกลืน เกิดเป็นทีมสอนที่มั่นคงและมีชีวิตชีวา อาจารย์ส่วนใหญ่เคยศึกษาหรือมีประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก รวมถึงมีประสบการณ์ตรงจากภาคอุตสาหกรรม สามารถเชื่อมโยงทฤษฎีระดับแนวหน้ากับการปฏิบัติได้อย่างลงตัว มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการสอนของอาจารย์และการยกระดับศักยภาพในการวิจัย โดยจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวิชาการและอบรมอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดพลวัตและนวัตกรรมด้านการสอนอยู่เสมอ

ประเภทอาจารย์
จำนวน
จำนวนอาจารย์ประจำทั้งหมด
ประมาณ 1,200 คน
ศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์
มากกว่า 800 คน
อาจารย์ที่ปรึกษาระดับปริญญาเอก
ประมาณ 100 คน

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีจำนวนนักศึกษามากกว่า 17,000 คน แบ่งเป็นระดับปริญญาตรีประมาณ 13,000 คน และระดับบัณฑิตศึกษาประมาณ 4,000 คน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้ขยายโควตารับนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น มุ่งสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบพหุภาษาและเป็นสากล

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

Xu Ying (รุ่นปี 2003)
นักวิทยาศาสตร์ด้านระบบนำทาง Beidou รองผู้อำนวยการห้องวิจัยเทคโนโลยีนำทาง สถาบันวิจัยออปโตอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการนำทางของประเทศจีน รับตำแหน่งเป็นที่อาจารย์ที่บรึกษานักศึกษาปริญญาเอกตั้งแต่อายุ 32 ปี
Qin Fei (รุ่นปี 1997)
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านการสื่อสาร บริษัท vivo มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G และนวัตกรรมสมาร์ทดีไวซ์ในประเทศจีน
Qi Yue
ผู้บริหารระดับสูงของ IBM (ประเทศจีน) ประจำภูมิภาคจีนใหญ่ มีประสบการณ์ลึกซึ้งด้านการบริหารยุทธศาสตร์องค์กรและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของบริษัทข้ามชาติ
วิทยาลัยและสาขาวิชา
Beijing Information Science and Technology University จัดตั้งวิทยาลัยมากกว่า 20 แห่ง ครอบคลุมสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิศวกรรมการผลิต การจัดการ และมนุษยศาสตร์ เป็นต้น วิทยาลัยหลักประกอบด้วย :

- วิทยาลัยมนุษยศาสตร์และนิติศาสตร์
- วิทยาลัยภาษาต่างประเทศ
- วิทยาลัยการจัดการ
- วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และการจัดการ
- วิทยาลัยวิทยาศาสตร์
- วิทยาลัยคณิตศาสตร์ประยุกต์และวิทยาศาสตร์สารสนเทศ
- วิทยาลัยคอมพิวเตอร์
- วิทยาลัยวิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร
- วิทยาลัยระบบควบคุมอัตโนมัติ

- วิทยาลัยวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์
- วิทยาลัยปัญญาประดิษฐ์
- วิทยาลัยวิศวกรรมออปโตอิเล็กทรอนิกส์
- วิทยาลัยวิศวกรรมเครื่องกล
- วิทยาลัยวิศวกรรมเครื่องมือและออปโตอิเล็กทรอนิกส์
- วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ
- วิทยาลัยการจัดการสารสนเทศ

สาขาวิชาที่เป็นจุดแข็ง ได้แก่ วิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ วิศวกรรมการสื่อสาร ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีบิ๊กดาต้า วิศวกรรมซอฟต์แวร์ การออกแบบและการผลิตเครื่องกลและระบบอัตโนมัติ เป็นต้น
สถาบันวิจัยและห้องปฏิบัติการ
มหาวิทยาลัยมีห้องปฏิบัติการและศูนย์วิจัยทางวิศวกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการยกระดับอุตสาหกรรมหลายแห่งในปักกิ่ง เช่น :
ห้องปฏิบัติการระดับชาติ
ศูนย์การเรียนรู้เชิงทดลองจำลองเสมือนระดับชาติ (สาขาอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ) ซึ่งมุ่งเน้นการผสมผสานเทคโนโลยีจำลองเสมือนจริง (Virtual Simulation) กับการศึกษาภาคปฏิบัติในสาขาอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมและมาตรฐานระดับชาติ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะอย่างเป็นระบบ ผ่านสถานการณ์จำลองเสมือนจริงที่ปลอดภัยและใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมการทำงานจริง

แพลตฟอร์มหลักระดับปักกิ่ง
- ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีการรับรู้และการประมวลผลข้อมูลอัจฉริยะของเทศบาลนครปักกิ่ง
- ศูนย์วิจัยทางวิศวกรรมด้านบิ๊กดาต้าอุตสาหกรรมและระบบอัจฉริยะของเทศบาลนครปักกิ่ง
- ศูนย์นวัตกรรมร่วมด้านการผลิตอัจฉริยะ
- สถาบันวิจัยพื้นฐานและการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์

แพลตฟอร์มวิจัยเหล่านี้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสารสนเทศของประเทศ มอบการสนับสนุนด้านวิจัยระดับสูงให้แก่อาจารย์และนักศึกษา
ความร่วมมือระหว่างประเทศ
Beijing Information Science and Technology University มุ่งเน้นยุทธศาสตร์การเป็นสากล โดยได้สถาปนาความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับมหาวิทยาลัยในกว่า 20 ประเทศและดินแดน เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี รัสเซีย เป็นต้น

รูปแบบความร่วมมือประกอบด้วย :
- โครงการร่วมผลิตบัณฑิตแบบ “2+2” หรือ “3+1+1”
- โครงการแลกเปลี่ยนระยะสั้นและค่ายฤดูร้อนนานาชาติ
- การแลกเปลี่ยนอาจารย์และการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยต่างประเทศ
- การเปิดสอนรายวิชาภาษาอังกฤษบางส่วน อำนวยความสะดวกให้นักศึกษานานาชาติเข้าศึกษาสาขาวิชาต่าง ๆ

มหาวิทยาลัยยังคงยกระดับคุณภาพบริการสำหรับนักศึกษานานาชาติ โดยพัฒนา “ระบบสนับสนุนครบวงจรสองภาษา (จีนอังกฤษ)” เน้นความเป็นมิตรและหลากหลายทางวัฒนธรรม ประกอบด้วยหลักสูตรที่สอนด้วยภาษาจีนและอังกฤษ ตำราเรียนหลายภาษา ระบบที่ปรึกษาแบบตัวต่อตัวสำหรับนักศึกษาต่างชาติ การสนับสนุนด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนหลักสูตรเสริมด้านภาษา ครอบคลุมตั้งแต่การเข้าเรียน การเรียน การฝึกงาน ไปจนถึงการสำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยยังมีศูนย์บริการนักศึกษานานาชาติ ให้ความช่วยเหลือเรื่องวีซ่า ที่พัก และการปรับตัวทางวัฒนธรรม เพื่อให้มั่นใจว่านักศึกษาจะได้รับการสนับสนุนที่ครอบคลุมทั้งด้านวิชาการและการใช้ชีวิต

หอสมุด
หอสมุดของ Beijing Information Science and Technology University เป็นศูนยรวมทรัพยากรสารสนเทศของสถาบัน มีหนังสือฉบับพิมพ์มากกว่า 1.3 ล้านเล่ม หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เกือบ 2 ล้านเล่ม ครอบคลุมสาขาวิศวกรรมสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ การจัดการ มนุษยศาสตร์ เป็นต้น หอสมุดเปิดให้บริการแบบเสรี แบ่งโซนการอ่านเป็นห้องค้นคว้า ห้องอภิปราย โซนสืบค้นข้อมูลดิจิทัล และพื้นที่บรรยายวิชาการ มุ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และการวิจัยแก่คณาจารย์และนักศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ

บริการที่โดดเด่นของหอสมุด ได้แก่ ระบบ “หอสมุดอัจฉริยะ” ผสานเทคโนโลยีจดจำใบหน้าและระบบการยืมคืนอัตโนมัติ รวมถึงชั้นวางหนังสือที่ค้นหาได้รวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพในการยืมทรัพยากรและมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ใช้ นอกจากหนังสือภาษาจีนและภาษาอังกฤษแล้ว ยังมี “โซนหนังสือหลายภาษาสำหรับนักศึกษานานาชาติ” และ “พื้นที่แนะนำวารสารเฉพาะทาง” รวมถึงมีการจัด “การบรรยายความรอบรู้ทางสารสนเทศสำหรับนักศึกษานานาชาติ” และ “เวิร์กช็อปการเขียนบทความวิชาการ” เป็นประจำ เพื่อเสริมทักษะด้านงานวิจัยและการค้นคว้าของผู้เรียน


หอสมุดติดตั้งระบบสืบค้นดิจิทัลอย่างครบครัน คณาจารย์และนักศึกษาสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลและวารสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายภายในมหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวก ทั้งยังรองรับการเข้าใช้งานผ่านอุปกรณ์พกพา ตอบโจทย์ความต้องการเรียนรู้ที่หลากหลาย

หอพักและโรงอาหาร
มหาวิทยาลัยจัดเตรียมหอพักเฉพาะสำหรับนักศึกษาต่างชาติ โดยใช้ระบบรักษาความปลอดภัยแบบปิด มีเครื่องปรับอากาศ ระบบทำความร้อน ห้องน้ำในตัว อินเทอร์เน็ต โต๊ะและตู้เสื้อผ้าครบครัน ภายในอาคารหอพักมีห้องครัวส่วนกลาง ห้องซักผ้า ห้องอ่านหนังสือ และพื้นที่พักผ่อนรวม เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการอยู่อาศัย


ในมหาวิทยาลัยมีโรงอาหารหลัก 3 แห่ง คือ โรงอาหารนักศึกษาที่ 1 โรงอาหารนักศึกษานานาชาติ และโรงอาหารฮาลาล เพื่อรองรับความต้องการทางโภชนาการที่หลากหลาย
โรงอาหารนักศึกษาที่ 1
เป็นโรงอาหารหลัก มีสามชั้น ให้บริการอาหารหลากหลายรสชาติ เช่น อาหารสไตล์เสฉวน อาหารซานตง อาหารท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงโซนอาหารแป้งและอาหารทานเล่นในราคาย่อมเยา ทีมงานจิ้นปู้พบว่าโรงอาหารนี้ได้รับความนิยมอย่างมากจากนักศึกษา

โรงอาหารนักศึกษานานาชาติ
จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับนักศึกษาต่างชาติ มีเมนูที่ผสมผสานรสชาติจีนและตะวันตก เช่น ชุดข้าว เมนูง่าย ๆ อาหารตะวันตกแบบฟาสต์ฟู้ด พร้อมเมนูภาษาอังกฤษและพนักงานที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ อำนวยความสะดวกในการสั่งอาหาร

โรงอาหารฮาลาล
รองรับนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม มีเมนูอาหารมุสลิมโดยเฉพาะ เช่น ข้าวผัดสไตล์ซินเจียง ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัว ข้าวอบเนื้อแกะ ให้บริการโดยเชฟผู้เชี่ยวชาญตามหลักฮาลาล สะอาดและถูกสุขอนามัย

โดยรวมแล้ว สภาพแวดล้อมในโรงอาหารมีความเรียบร้อย มีโถงรับประทานอาหารขนาดใหญ่และห้องส่วนตัว แสดงถึงความสะดวกสำหรับการรับประทานอาหารและพบปะสังสรรค์ระหว่างนักศึกษาและอาจารย์



การคมนาคม
วิทยาเขตหลักของBeijing Information Science and Technology University ตั้งอยู่เลขที่ 12 ถนนซีถู่เฉิง (Xitucheng西土城路) เขตไห่เตี้ยน (Haidian海淀区) การเดินทางสะดวกสบาย มีเส้นทางหลากหลาย :
รถไฟใต้ดิน
ออกจากประตูด้านทิศใต้ของวิทยาเขตหลัก (เลขที่ 12 ถนนซีถู่เฉิง) สามารถเดินเท้าประมาณ 750 เมตร ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ถึงสถานีรถไฟใต้ดินสาย 10 (10号线) สถานีมู่ตั้นหยวน (Mudanyuan牡丹园站) ทางออก B โดยตรง


รถประจำทาง (ป้ายหน้ามหาวิทยาลัย: Xueyuan Road / Xitucheng Road West Intersection) สาย 307, 658, 26, 510 เป็นต้น
สามารถเดินทางตรงไปยังมหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ย่านจงกวนชุน สถานีรถไฟปักกิ่ง และสถานีรถไฟปักกิ่งตะวันตก ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางคมนาคมสำคัญของเมือง
นอกจากนี้ นักศึกษายังสามารถเลือกใช้บริการจักรยานสาธารณะหรือรถไฟฟ้าขนาดเล็กซึ่งเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะดวกและรวดเร็ว
สิ่งอำนวยความสะดวกรอบมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในย่านสำคัญของ เขตไห่เตี้ยน พื้นที่โดยรอบมีบริการครบครัน สามารถเดินถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดใหญ่ต่าง ๆ ได้ เช่น :
- ด้านชีวิตประจำวัน : ซูเปอร์มาร์เก็ต (เช่น Wumei, Yonghui, Jingkelong) ร้านสะดวกซื้อ (711, FamilyMart, Lawson) ธนาคาร จุดบริการไปรษณีย์ ร้านขายยา

- ด้านการแพทย์ : โรงพยาบาลปักกิ่งจี้สุ่ยถาน (Beijing Jishuitan Hospital) โรงพยาบาลปักกิ่ง (Peking University Hospital) อยู่ในระยะเวลาเดินทางประมาณ 10 นาทีโดยรถยนต์
- ด้านการสื่อสาร : ศูนย์บริการ China Mobile/Unicom/Telecom
- ด้านพักผ่อนและกีฬา : ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ โรงยิม โรงภาพยนตร์

- ด้านอาหาร : มีร้านอาหารสไตล์จีนและตะวันตกหลากหลาย คาเฟ่ชาไข่มุก ร้านอาหารฮาลาล เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักศึกษานานาชาติที่ใช้ชีวิตและเรียนในบริเวณนี้ ตัวอย่างร้านอาหารยอดนิยมของนักศึกษา เช่น ไฮตี้เหลา (Hai Di Lao) (หม้อไฟสไตล์จีน) ร้านเกิ่งเฟิงเปาจึ (QingFeng Baozi) (อาหารพื้นเมืองปักกิ่ง) ร้านซีเป่ย (Xi Bei) (อาหารภาคตะวันตกเฉียงเหนือ) แมคโดนัลด์ เคเอฟซี พิซซ่าฮัท (อาหารตะวันตก) รวมไปถึงร้านหม้อไฟเสฉวนแบบดั้งเดิม ร้านเบอร์เกอร์คิง ชานมไข่มุกโคโค่ ชา Heytea ชา Nayuki เป็นต้น
